ดอกบัวกับประเพณีวัฒนธรรม
ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นช่วงที่บ้านเมืองมั่นคง
การค้าก็มั่งคั่ง พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๓)
ทรงโปรดให้ฟื้นฟูประเพณีพิธีกรรมสำคัญเพื่อความอุดมสมบูรณ์ของราชอาณาจักร
โดยทรงพระราชนิพนธ์หนังสือ ตำราท้าวศรีจุฬาลักษณ์ หรือ นางนพมาศ ขึ้น
สมมุติให้ฉากของเรื่องเกิดขึ้นในยุคพระร่วงเจ้ากรุงสุโขทัย
ซึ่งตำราดังกล่าวได้พูดถึงนางนพมาศว่าเป็นพระสนมเอกของพระร่วง
ที่ได้คิดประดิษฐ์กระทงใบตองเป็นรูปดอกบัวกมุทขึ้น
ด้วยเห็นว่าเป็นดอกบัวพิเศษที่บานในเวลากลางคืนเพียงปีละครั้ง
สมควรทำเป็นกระทงแต่งประทีป ลอยไปถวายสักการะรอยพระพุทธบาท
ซึ่งเมื่อพระร่วงเจ้าได้ทอดพระเนตรเห็นและทราบถึงความหมาย
พระองค์จึงมีพระราชดำรัสว่า
แต่นี้สืบไปเบื้องหน้าโดยลำดับกษัตริย์ในสยามประเทศถึงกาลกำหนดนักขัตฤกษ์
วันเพ็ญเดือน ๑๒ ให้ทำโคมลอยเป็นรูปดอกบัว
อุทิศสักการบูชาพระพุทธบาทนัมมทานที ตราบเท่ากัลปาวสาน ด้วยเหตุนี้ จึงเกิด
กระทง ที่ทำด้วยใบตองแทนวัสดุอื่นๆ
และตั้งแต่นั้นมาประเพณีลอยกระทงจึงเป็นประเพณีที่สำคัญของคนไทยทั่วประเทศ
มีการจัดงานที่ยิ่งใหญ่เป็นประจำทุกปี