การที่บัวได้รับความนิยมว่าเป็นไม้มงคล ทำให้ถือว่าเป็นมงคลนาม
จึงมีการนำไปตั้งชื่อหญิงสาวทั้งในวรรณคดี และชีวิตประจำวันมากมาย เช่น
นางปัทมาวดี ในนิทานเวตาล นางปทุมเกสร ในบทละครเรื่องพระอภัยมณี นางบัวคลี่
ในเสภาขุนช้างขุนแผน ส่วนชื่อพื้นบ้านก็ได้แก่ สายบัว บัวแก้ว บัวเผื่อน
บัวผัน เป็นต้น
นอกจากนี้ก็ยังมีการประยุกต์นามขึ้นใหม่โดยนำคำจากภาษาบาลีสันสกฤตมาสมาสและ
สนธิจนเกิดเป็นคำที่ออกเสียงไพเราะ เหมาะที่จะใช้เป็นชื่อบุรุษและสตรี เช่น
คำว่า “ กมล ” มีความหมายว่า ใจ หรือขยายเป็น กมลา หมายถึง พระลักษมี คือ
ผู้อยู่ในดอกบัว กมลวรรณ แปลว่า ผู้มีวรรณะดังดอกบัว โกมุท โกเมศ หมายถึง
บัวสายสีขาว บงกช แปลว่า ผู้เกิดแต่ตม บุษกร หมายถึง บัวสีน้ำเงิน บุษบง
บุษบัน หมายถึง ดอกบัวเผื่อน บุณฑริก หมายถึง ดอกบัวขาว ลินจง
เป็นชื่อบัวสีชมพูและบัวสีแดง จงกล หรือ จงกลนี
เป็นชื่อบัวสายที่มีกลีบซ้อนกันหลายชั้นสีชมพูอ่อน สาโรธ หรือ สาโรช แปลว่า
ดอกบัว อรพินท์ คือ ดอกบัว และ กรณิกา หมายถึง ฝักบัว เป็นต้น