ดอกบัวกับพระพุทธศาสนา


    ดอกบัว ถือได้ว่าเป็นดอกไม้ที่มีความเกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาเริ่มตั้งแต่เมื่อ พระโพธิสัตว์ ซึ่งต่อมาคือเจ้าชายสิทธัตถะ เสด็จจากสวรรค์ชั้นดุสิตเพื่อเข้าสู่พระครรภ์พระมารดา วันที่เสด็จลงมาบังเกิดนั้น ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 คืนนั้น พระนางสิริมหามายา พระมาดาทรงมีพระสุบินนิมิตว่า พระนางได้เข้าไปอยู่ในป่าหิมพานต์ ได้มีช้างเผือกเชือกหนึ่ง ลงมาจากยอดเขาสูง เข้ามาหาพระนางปฐมสมโพธิ พรรณนาเหตุการณ์ตอนนี้ไว้ว่า“มีเศวตหัตถีช้างหนึ่ง…ชูงวงอันจับปทุมชาติสี ขาว มีเสาวคนธ์หอมฟุ้งตรลบ แล้วร้องโกญจนาทเข้ามาในกนกวิมาน แล้วกระทำประทักษิณพระองค์อันบรรทมถ้วนครบสามรอบแล้ว เหมือนดุจเข้าไปในอุทรประเทศ ฝ่ายทักษิณปรเศว์แห่งพระราชเทวี…” ในขณะนั้น ได้เกิดบุพนิมิตขึ้น 32 ประการ ประการที่เกี่ยวกับดอกบัวคือ มีดอกบัวปทุมชาติหรือบัวหลวง 5 ชนิด อันได้แก่  สัตตบุษย์ หรือ บัวฉัตรขาว  บัวเข็มชมพู   บุณฑริก หรือ บัวหลวงขาว  ปทุม หรือ บัวหลวงชมพู  สัตตบงกช หรือบัวหลวงป้อมแดง

      ต่อมา เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะประสูติ เมื่อทรงก้าวลงจากพระครรภ์ ทรงผินพระพักตร์ไปยังทิศอุดร ชี้พระดรรชนีขึ้นฟ้า แล้วเสด็จดำเนินไป 7 ก้าว แต่ละก้าวมีดอกบัวผุดขึ้นมารองรับ และทรงเปล่งอาสภิวาจา(วาจาอย่างองอาจ)ว่า “เราเป็นผู้เลิศของโลก เป็นผู้ใหญ่ที่สุดของโลก เป็นผู้ประเสริฐที่สุดของโลก นี้เป็นการเกิดครั้งสุดท้าย ไม่มีการเกิดใหม่อีกต่อไป”ดอกบัวที่ผุดขึ้นมารับพระบาทนี้ หมายถึงพระองค์จะเป็นผู้บริสุทธิ์ ปราศจากกิเลสโดยสิ้นเชิง (ซึ่งเสถียรพงษ์ วรรณปก ราชบัณฑิตบอกว่า ในพระไตรปิฎกไม่ได้พูดถึง แต่มีเพิ่มขึ้นภายหลัง)ราชบัณฑิตยังให้ความเห็นเกี่ยวกับการที่พระพุทธองค์ สามารถตรัสได้ทันทีที่ประสูติต่อคำถามที่ว่า เป็นเพียงสัญลักษณ์เปรียบเทียบถึงอะไร หรือเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ท่านตอบว่ามีเขียนไว้ในพระไตรปิฎก โดยพระพุทธองค์ตรัสเล่าให้สาวกฟังด้วยพระองค์เอง โดยทรงสรุปสั้นๆว่า “เป็นธรรมดาของพระโพธิสัตว์” โดยท่านยกขึ้นเปรียบเทียบกับเด็กชายที่ได้บันทึกไว้ในกินเนสส์บุค คือ คริสเตียน ไฮเนเก้น ที่เกิดมาสองชั่วโมงก็พูดได้ อายุ 4 ขวบ ก็พูดได้ 7 ภาษา พออายุ 7 ขวบ สามารถแสดงปาฐกถาเรื่องอภิปรัชญาชั้นสูงให้ที่ประชุมปราชญ์ได้ทึ่ง

        เหตุการณ์ที่สาม เมื่อทรงมีพระชนมายุได้ 7 พรรษา พระราชบิดาโปรดให้ขุดสระโบกขรณี 3 สระ สำหรับให้ทรงลงเล่นน้ำ โดยปลุกอุบลบัวขาบสระหนึ่ง ปทุมบัวหลวงสระหนึ่ง และบุณฑริกบัวขาวอีกสระหนึ่ง และเมื่อทรงตรัสรู้ ทรงเปรียบเวไนยสัตว์ อุปมาดังบัว สี่เหล่า คือ เหล่าที่ 1 อุคคติตัญญูบุคคล คือผู้มีกิเลสเบาบาง มีปัญญา เมื่อได้ฟังธรรมก็สามารถเข้าใจได้ในทันที เปรียบเหมือนบัวที่โผล่พ้นน้ำ พอต้องแสงอาทิตย์ ก็บานทันที   เหล่าที่2 วิปัจจิคัญญูบุคคล กิเลสค่อนบ้างน้อย อินทรีย์ปานกลาง หากได้ฟัง และมีการอธิบายซ้ำอีกครั้งก็จะเข้าใจ เปรียบเหมือนบัวที่อยุ่พอดีกับผิวน้ำ พร้อมที่จะบานในวันต่อไป  เหล่าที่ 3 เนยยบุคคล ผู้ที่มีกิเลสปานกลาง ต้องหมั่นศึกษา คบกัลยาณมิตร จึงจะสามารถรู้ธรรม เปรียบเหมือนบัวที่ยังจมอยู่ในน้ำ คอยวันโผล่พ้นน้ำ เพื่อที่จะบานในวันต่อๆไป  เหล่า 4 ปทปรมบุคคล ผู้ที่มีกิเลสหนา ปัญญาทึบ ไม่สามารถบรรลุธรรมวิเศษได้ เปรียบเสมือนบัวที่จมอยุ่ใต้น้ำลึก ไม่สามารถโผล่พ้นน้ำขึ้นมาได้ รังแต่จะเป็นอาหารของเต่าปลาต่อไป

         อีกเหตุการณ์หนึ่งคือ ครหพินน์เจ็บใจที่สิริตุตถ์หลอกอาจารย์เดียรถีร์ของตนให้ตกลงไปในหลุมอุจจาะ จึงคิดแก้แค้น หลอกพระพุทธเจ้าอันเป็นอาจารย์ของสิริคุตถ์บ้าง โดยล่อให้ตกลงไปในหลุมที่ก่อไฟด้วยไม้ตะเคียน ปรากฏว่ามีดอกบัว ผุดขึ้นมารับพระบาทพระองค์  ซึ่งเรื่องราวเหล่านี้สามารถแสดงได้ถึงดอกบัวนั้นมี ความหมายกับพระพุทธศาสนาอย่างมากจึงทำให้ปัจจุบัน ในการกราบไหว้พระพุทธรูปจึงนิยมใช้ดอกบัวเพื่อเป็นการแสดงความบริสุทธ์และ ความดีงามนั้นเอง