การดูแลรักษาบัวที่ปลูกเป็นไม้ประดับในภาชนะจำกัด



         ปลูกบัวในภาชนะจำกัด คือ การปลูกบัวในภาชนะที่ใส่ดิน ใส่น้ำโดยตรง หรือปลูกบัวในอ่างหรือกระถางแล้วยกแช่ในภาชนะบรรจุน้ำที่ใหญ่กว่า หลักเกณฑ์ของการดูแลรักษาบัวมี 5-6 เรื่อง คือ
1. ให้อยู่ในที่ที่เหมาะที่สุด สบายที่สุด
2. ให้อยู่ในที่ที่ปราศจากมลภาวะ
3. อย่าให้อดอาหาร มีอาหารให้กินพอดีและพอเพียง
4. อย่าให้ถูกศัตรูรังแก ป้องกันและปราบศัตรูให้
5. ให้เจริญเติบโตตามสภาพที่ต้องการ
6. ดูแลเรื่อง การกลายพันธุ์

1. ให้อยู่ในที่ที่เหมาะที่สุด สบายที่สุด
          เป็นเรื่องก่อนปลูก ผู้ปลูกต้องรู้ว่าบัวที่อยากจะปลูกเป็นบัวอะไร พันธุ์อะไร ต้องการที่อยู่แบบไหน น้ำลึก เท่าไร ต้องการการแผ่กระจายของใบเท่าไร เช่น บัวหลวง บัวฝรั่ง เจริญเติบโตตามแนวนอน ภาชนะปลูกจึงควรมี หน้ากว้างมาก ตรงกันข้ามกับบัวผันบัวเผื่อน บัวสาย จงกลนี ซึ่งเจริญเติบโตตามแนวดิ่ง ภาชนะปลูกจึงควรเป็นแบบทรงสูง ภาชนะปลูกควรจะใหญ่-เล็กแค่ไหน บรรจุดินปลูกเท่าไร ตามความต้องการของแต่ละพันธุ์ ฯลฯ บัวแต่ละพันธุ์ต้องการอยู่สภาพอย่างไร เกณฑ์กลางๆ คือ ภาชนะปลูกบัวควรบรรจุดินได้ไม่ต่ำกว่า 1 ลูกบาศก์ฟุต หรือ เท่ากับประมาณ 1 ปี๊บ

           2. ให้อยู่ในที่ที่ปราศจากมลภาวะ ปัจจัยที่ทำให้น้ำเน่าเสียมี 2-3 ประการ คือ
           2.1 ปล่อยให้พระเจ้าเลี้ยง ผู้ปลูกไม่สนใจคอยเด็ดใบที่แก่-เหลือง และดอกโรยแล้วทิ้ง ปล่อยให้เละเน่าอยู่ในภาชนะ ผู้ปลูกต้องคอยเด็ดใบแก่ที่เริ่มเหลืองและดอกที่หยุดบานแล้วทิ้ง โดยปลิดถึงโคนก้าน ห้ามดึงอย่างเด็ดขาด เดินตรวจ เดินเด็ดทุกวัน เป็นการออกกำลังกายอย่างดีของผู้สูงอายุ
           2.2 เอาใจใส่-รักบัวมากเกินไป อยากให้งามมากๆ ตรงกันข้ามกับข้อแรก เจ้าของเอาใจใส่มาก อยากให้บัวงามมากๆใส่ปุ๋ยอุตลุตเลยบัวกินไม่หมด ปุ๋ยละลายออกมาในน้ำ ไม้น้ำอย่างอื่น ได้แก่ ตะไคร่ สาหร่าย และจุลินทรีย์เขียว ฯลฯ เจริญเร็วกว่าบัว จะกินปุ๋ยหมด การมีศัตรู
คอยกินพวกนี้ นอกจากแย่งออกซิเจนในน้ำ จากบัวแล้ว เมื่อแก่ตายก็จะทำให้น้ำเน่าเสีย ผู้ปลูกต้องเสียเวลาปราบ
           2.3 ไม่เอาใจใส่เปลี่ยนดิน รากแก่ เหง้าแก่ตายเน่าอยู่ในดิน ทำให้น้ำเสีย คือ ปล่อยให้พระเจ้าเลี้ยง ปล่อยให้อยู่ในภาชนะจำกัดเสียจนราก-เหง้าอัดเต็มภาชนะปลูก ดันดินออกไปหมด พอโตไม่ไหว ราก-เหง้าก็ตาย ทำให้น้ำเน่าเสีย เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลอมเขียว ฯลฯ แก้ไขด้วยการรื้อ เปลี่ยนดินปลูกใหม่ครับ

           3. บัวอดอาหาร
           ก็เป็นประเภทปล่อยให้พระเจ้าเลี้ยงอีกนั่นแหละ เอามาปลูกปล่อยให้กินอาหารเดิมที่มีอยู่ในดินปลูก หมดแล้วก็ ไม่เติมอาหารให้ ใครจะไปอยู่ได้ ง่ายและสะดวกที่สุด ใช้ปุ๋ยสูตรสมดุล เช่น 15-15-15 หรือ 16-16-16 หนึ่งช้อนกาแฟ ห่อกระดาษหนังสือพิมพ์ 1-2 ชั้น อัดใต้โคนต้นบัวลึกสัก 3-4 นิ้ว อย่างน้อยเดือนละครั้ง

           4. ป้องกันและปราบศัตรูให้ ศัตรูบัวมีทั้งศัตรูที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์และศัตรูที่จงใจ ป้องกันและปราบปรามศัตรู
ต่างๆ เหล่านี้ได้ดังนี้
           4.1 ศัตรูที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ ชนิดที่ 1 ได้แก่ เจ้าของ-คนปลูกบัวเอง อยากให้อ่าง-บ่อสวยก็เลี้ยงปลา เห็นบ่อยๆ ก็คือปลาสวยงาม ได้แก่ ปลาเงินปลาทอง ปลาคาร์ป ปลาพวกนี้เป็นปลาใช้ปากดูดกิน เมื่อคุ้ยดูดอาหารโคนบ่อ-อ่างจะทำให้น้ำขุ่น ถึงแม้ว่าจะช่วยกำจัดตะไคร่ สาหร่าย หอย และจุลินทรีย์เขียวออกไปได้บ้าง แต่ก็ยังทำให้น้ำขุ่น เจ้าของก็พยายามถ่ายเปลี่ยนน้ำบ่อยๆ เพื่อให้น้ำใส แต่ลืมคิดไปว่าการถ่ายเปลี่ยนน้ำในภาชนะปลูกบัวบ่อยๆ ก็คือการเปลี่ยนสภาพแวดล้อมให้แก่บัวตลอดเวลา เปลี่ยนน้ำบ่อยๆ บัวก็จะไม่สบาย ไม่งาม การป้องกัน
ที่ดีที่สุดคือ อย่าเปลี่ยนน้ำ-ถ่ายน้ำในอ่าง-ภาชนะปลูกบัวบ่อยๆ โดยไม่จำเป็น ถ้าปลูกในบ่อ-สระใหญ่ๆ ที่ต้องการให้น้ำใสและเลี้ยงปลาสวยงามด้วย ควรติดตั้งเครื่องกรองน้ำชนิดที่ดูดน้ำขึ้นไปกรองแล้วปล่อยกลับลงมาหมุนเวียนโดยไม่ต้องเปลี่ยนน้ำ
          4.2 ศัตรูที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ ชนิดที่ 2 ก็ได้แก่เจ้าของที่ปลูกบัวอีกนั่นแหละ พวกนี้เป็นพวกที่ปลูกบัวในบ่อ-สระใหญ่ๆ ทั้งในภาชนะจำกัดหรือปลูกลงดินโดยตรงในบ่อ และต้องการเลี้ยงปลาเป็นอาชีพเสริม หรือมีบ่อ-สระอยู่แล้ว ปลูกบัวลงไป แล้วปล่อยปลากินพืชลงไป ยิ่งถ้าเป็นปลากินพืชที่ขยายพันธุ์เร็ว เช่น ปลาหมอเทศ ปลูกอะไรๆ ก็ไม่เหลือ ปูและหอยก็กินบัวครับ ที่ร้ายที่สุดคือ หอยเชอรี่ ถ้ากันไม่ได้เพราะปลูกลงไปแล้วก็ต้องแก้ ทำบาปบ้าง ไปแก้ตัวกันเองในชาติหน้าก็แล้วกัน คือ เอาปลากินพืชออกไป จะด้วยวิธีใดก็ตามแต่ถนัด (ปรึกษา
กรมประมงก็แล้วกันครับ) และ/หรือ ปล่อยปลากินเนื้อลงไป เช่น ปลาดุก ปลาช่อน ปลาบู่ หรือปลากินเนื้อชนิดอื่นๆ ให้ช่วยจัดการลูกเล็กเด็กแดงของปลากินพืช ปู และหอย ให้ปลากินเนื้อพวกนี้เหมาไป สำหรับหอยเชอรี่ ขยันเก็บไข่สีชมพูที่หอยไข่ไว้ตามยอดหญ้าหรือผนังบ่อทิ้ง
ทุกวันก็ปราบได้ครับ
          4.3 ศัตรูประจำ 1 ที่ประจำจริงๆ เกือบตลอดปีและร้ายแรงมากได้แก่ หนอนพับใบ (Leaf roller) ลูกของผีเสื้อกลางคืน ฤดูฝนอาจน้อยลงบ้าง เนื่องจากผีเสื้อไข่บนใบบัวไม่ถนัดเพราะใบเปียก รองลงมาได้แก่ เพลี้ยอ่อน (Aphids) ระบาดมากในฤดูแล้งและ
ฤดูหนาว (เมื่อฝนน้อยลง) ที่ร้ายกาจถัดมาคือ เพลี้ยไฟ (Thrips) และหนอนชอนใบ (Leaf miner) สำหรับบัวหลวง มีศัตรูอีกชนิดคือ หนอนกระทู้ (Caterillar) เวลาระบาดมากจะกัดกินใบจนโปร่งฟ้าไปเลย ศัตรูพวกนี้ป้องกันและกำจัดได้ โดยถ้าเกิดไม่มากเด็ดใบที่ถูก
รบกวนทำลายทิ้ง ถ้าบัวมีใบไม่มาก ถ้าเป็นติดต่อกันและบ่อยมากใช้ยาฆ่าแมลงประเภทดูดซึมในอัตราที่แนะนำตามสลากข้างขวดหรือบนซอง ควรใช้ยาฉีดสลับกัน 6 อย่าง(เพื่อกันไม่ให้ศัตรูดื้อยา) ได้แก่ อโซดริน 60 พอสธ์ เซฟวิน 85 โปรตีนเบสทริล และแลนเนทยาอโซดรินโปรตีน เบสทริล และเซฟวิน ปราบแมลงปากกัดและดูดของบัวได้เกือบทุกชนิด ส่วนพอสธ์ และแลนเนทใช้ปราบหนอนและเพลี้ยเป็นส่วนใหญ่
          4.4 ศัตรูประจำ 2 ได้แก่ โรคต่างๆ ที่เป็นประจำ บ่อยที่สุดคือ โรคใบจุด ส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อรา ซึ่งมักจะระบาดในฤดูฝนที่อากาศชื้นโรคใบจุดอีกชนิดหนึ่งซึ่งเกิดในฤดูร้อนและหนาวที่อากาศแห้งแล้งและแดดร้อนมาก ความร้อนของแดดทำให้หยดน้ำบนใบบัวร้อน ใบบัว ณ จุดนั้นก็ตาย เชื้อโรคที่กินพืชที่ ตายแล้ว (Saprophyte) เข้าทำลาย ทำให้ใบเป็นจุดหรือเป็นแถบไหม้ ทั้งบนใบและจากขอบใบ ป้องกันโดยเด็ดใบ ที่เป็นโรคทิ้ง ไม่ต้องกลัวครับ บัวที่ตั้งหลักได้แล้ว มีเพียง 3-5 ใบก็ไม่ตาย
          4.5 ศัตรูประจำ 3 ได้แก่ ตะไคร่ จุลินทรีย์เขียว สาหร่าย และวัชพืช พวกนี้นอกจากแย่งอาหารบัวกินแล้ว ยังก่อให้เกิดความรำคาญหรือทำให้บัวเจริญไม่เต็มที่ เช่น ตะไคร่ สาหร่าย เจริญพันกอบัว ยอกบัว ใบบัว ไม่ให้โผล่ขึ้นเหนือน้ำ ตะไคร่และจุลินทรีย์เขียว สาหร่ายและวัชพืชอื่นๆ ที่ ไม่ต้องการ เช่น หญ้าน้ำ ลูกบัว (คือต้นอ่อนของบัวที่งอกจากเมล็ด) ปราบโดยเก็บทิ้งครับ ป้องกันคือไม่ใช้ปุ๋ยคอก จากมูลวัวหรือเก็บดอกโรยทิ้งก่อนติดฝักและเมล็ด
          4.6 ศัตรูจากคนมักได้ ศัพท์ตลกๆ ของฝรั่งเขาเรียกโรค Finger Blight หรือโรคนิ้วมือไหม้ครับ จากมือคนที่มักได้ อยากได้บัวที่เขาไม่ให้ ก็เลยขโมยเอาไป โรคนี้ป้องกันและกำจัดยากมาก เพราะไม่รู้ว่าจะมาเมื่อไร

          5. ให้เจริญเติบโตตามสภาพที่ต้องการ สภาพที่บัวไม่ต้องการแต่ต้องพบถ้าเจ้าของไม่ดูแลให้ดี ทำให้บัวชะงัก-หยุดการเจริญเติบโต และอาจตายไปเลย ถ้าดูแลไม่ทัน ได้แก่
          5.1 แตกกอในภาชนะปลูกจนแน่น แย่งกันกินอาหารจนไม่พอกิน หยุดการเจริญเติบโต ไม่ออกดอก แก้ด้วยการรื้อเอาต้นที่ไม่ต้องการออกไปให้เหลือต้น-กอเดียว
          5.2 ไม่ให้บัวอยู่อย่างสันโดษ คือปลูกบัวหลายพันธุ์ในภาชนะเดียวกัน ภาชนะใหญ่ กว้าง อาจอยู่ได้สักพักหนึ่ง แต่ถ้าเป็นภาชนะปลูกที่เล็ก ถ้าปลูกบัวหลายพันธุ์ไว้ในภาชนะเดียวกันและเผลอปล่อยให้พระเจ้าเลี้ยง พันธุ์ที่แข็งแรงเท่านั้นที่จะเหลืออยู่ให้คุณ เพราะมันจะเจริญ
เติบโตเบียด-ข่มพันธุ์ที่อ่อนแอกว่าตายไปในที่สุด และเจ้าพันธุ์ที่ตายไปอาจเป็นพันธุ์ที่คุณรักที่สุดก็ได้
          5.3 รากลอย เกิดกับบัวที่เจริญเติบโตทางแนวดิ่งเป็นส่วนใหญ่ ได้แก่ บัวผันบัวเผื่อน บัวสาย จงกลนี และบัวกระด้ง โดยเฉพาะเมื่อปลูกในภาชนะจำกัด รากและต้น (เหง้า) เมื่อดันลงล่างไม่ได้เพราะติดก้นของภาชนะ ก็ดันขึ้นบน นานเข้าๆ ส่วนโคนก็ลอยพ้นดิน รากที่ยึดดิน
และรากฝอยที่เกิดตามแนวและแยกแขนงออกมาจากราก ยึดดินที่เป็นรากดูดอาหารก็ลอยตามพื้นดินขึ้นมาด้วย เมื่อดันสูงขึ้นมามากๆ รากยึดดินก็หมดสภาพที่จะยึดดินไว้ได้อีกต่อไป รากฝอยที่ดูดอาหารที่เกาะอยู่กับเม็ดดินก็ดูดอาหารจากดินไม่ได้ ได้เพียงอาหารบางส่วนที่ละลายอยู่ในน้ำ ระหว่างที่เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นใต้น้ำ เมื่อลมพัด น้ำกระเพื่อม ความสั่นสะเทือนจะไปถึงโคนต้น เมื่อรากยึดดินได้ไม่แน่นพอ ต้นบัวก็โคลงตามไปด้วย เมื่อสั่น-โคลง รากหลวมและลอย ความสามารถในการดูดหาอาหารก็ลดลง แก้ไขด้วยการรื้อทั้งต้นขึ้นมา ตัดเหง้าเกินทิ้งเหลือเท่าที่ติดส่วนโคน แล้วปลูกกลับลงไปใหม่ บำรุงรักษาไปตามปกติ
          5.4 บัวหัวชนฝาเกิดกับบัวหลวงและบัวฝรั่งที่เจริญเติบโตทางแนวนอน บัวหลวงไม่ค่อยเป็นปัญหาเท่าไรเพราะยอดอ่อน (ชาวบ้านปลูกบัวหลวงเก็บดอก-ฝักขายเป็นธุรกิจ เรียก หัวหน้า”) ไหลอ่อน เจริญเติบโต คดเคี้ยวไปตามแนวผนังของภาชนะได้ แต่บัวฝรั่งเหง้าแข็ง เมื่อโตไปจนหัวชนฝาก็จะหยุดชะงักการเจริญเติบโต หยุดการออกดอก ใบเล็กลง แก้โดยการตัดส่วนเกินออกแล้วปลูกใหม่ที่ริมผนังภาชนะ เหง้าแก่ที่เหลืออยู่ถ้าไม่มีหน่ออ่อนที่จะเก็บไว้ขยายพันธุ์ควรรื้อทิ้ง เพราะจะเน่าเสียทำให้น้ำเสียได้
          5.5 ดินปลูกหมดสภาพ ปลูกบัวในภาชนะจำกัดนานๆ เข้า รากบัวจะเจริญและขยาย อัด-ดันดินให้ ย่อยลงและละลายสลายตัวไปกับน้ำรากเข้าแทนที่จนดินหมด มีแต่ราก บัวก็จะเจริญลงคือ ใบเล็กลง น้อยลง ไม่ออกดอก ใบเหลืองเร็วและง่าย แก้ไขโดยรื้อปลูก-เปลี่ยนดิน
ใหม่

          6. บัวกลายพันธุ์ เป็นพวกที่ปล่อยพระเจ้าเลี้ยง
           ไม่เด็ดใบแก่ ดอกโรยทิ้ง โดยเฉพาะบัวผัน บัวสาย หลายพันธุ์ติดเมล็ดง่าย และพันธุ์ที่ปลูกเป็นไม้ดอก-ไม้ประดับปัจจุบันส่วนใหญ่ก็เป็นพันธุ์ลูกผสมอยู่แล้ว เม็ดที่ติดจากดอกที่โรยและเน่าร่วงลงในภาชนะ งอกเป็นต้นใหม่หลายๆ ต้น แก่งแย่งกันเจริญเติบโต ก็แย่งโต แย่ง
กินอาหาร แย่งที่อยู่ เบียดจนพ่อหรือแม่ตายไป