ใน
ศาสนาพราหมณ์ซึ่งถือว่าเป็นศาสนาเก่าแก่ที่สุดของอาเซีย
และมีกำเินิดในประเทศอินเดียนัน
เดิมทีชาวอินเดียผู้นับถือศาสนาพราหมณ์ถือว่า พระพรหม
พระผู้เป็นเจ้าสูงสุดของตนเกิดจากไข่สีทอง แล้วทรงสร้างโลก
และให้กำเนิดพราหมณ์ ทรงสร้างมนุษย์ขึ้นในโลกมามกาย ทำให้ได้นามว่า ธาดา
แปลว่า ผู้สร้าง และวิธาดา แปลว่า ผู้เลี้ยง
ในคัมภีร์กล่าวว่าพระพรหมมักสถิตย์อยู่เหนือดอกบัวเสมอ จึงได้นามว่า
กมลาสน์ แปลว่า ผู้มีดอกบัวเป็นอาสนะ
ต่อมาเมื่อเกิดลัทธิใหม่คือ ฮินดู ขึ้น
ชาวฮินดูก็เล่าเรื่องกำเนิดพระพรหมเสียใหม่ว่า
พระพรหมเกิดในดอกบัวที่งอกออกมาจากพระนาภีของพระนารายณ์ขณะกำลังบรรทมหลับ
อยู่เหนืออนันตนาคราชในเกษียรสมุทร
ในศาสนาฮินดูมีพระผู้เป็นเจ้าและเทพต่างๆ
หลายองค์ที่มีดอกบัวเข้าไปเกี่ยวข้อง อาทิ พระสุรัสวดี พระลักษมี พระคงคา
พระอาทิตย์ พระอัคนี พระอินทร์ เป็นต้น
พระสุรัสวดี ชายาของพระพรหม ทรงมีพระโสภามากผิวกายผ่อง
อาภรณ์เป็นแก้วสีขาวเหรือเพชรล้วน ทรงรัดเกล้่ามีกรสี่กร กรหนี่งทรงถือพิณ
ทรงเป็นเจ้าแห่งดนตรีและการขับร้อง กรหนึ่งทรงถือถ้วยน้ำ
ทรงเป็นเจ้าแห่งแม่น้ำทั้งหลาย กรหนึ่งทรงถือคัมภีร์
เพราะทรงอุปถัมภ์การศึกษา อีกกรทรงถือดอกบัว และประทับบนดอกบัว
พระลักษมี ชายาพระนารายณ์
เกิดจากฟองสมุทรในคราวที่เทวดาและอสูรมาทำไมตรีกัน
แล้วกวนเกษียรสมุทรเพื่อทำน้ำอมฤต ซึ่งเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์
ผู้ใดได้ดื่มแล้วจะไม่ตาย นางจึงได้ชื่อว่า ชลธิชา แปลว่า เกิดจากทะเล
และว่าในขณะโผล่ขึ้นมาจากท้องทะเล
นางนั่งอยู่ในดอกบัวและในมือถือดอกบัวด้วย จึงได้นามอีกว่า ปัทมา และ กมลา
แปลว่า ดอกบัว ตามรูปเขียนของพระลักษมี เป็นภาพสตรีที่งดงามเป็นอย่างยิ่ง
สีกายเป็นสีทอง มีสองกร พระภูษาสีเหลือง และจะอยู่ในท่านั่งหรือยืนในดอกบัว
พระกรถือดอกบัว
พระคงคา ตามพระเวทกล่าวว่า พระคงคาเป็นธิดาองค์แรกของพระหิมวัตกับนางเมนกา
และเป็นเชษฐภคินีของพระอุมารูปเขียนตามคติฮินดูนั้น เป็นรูปนางงามสีกายขาว
มีสามเศียร ทุกเศียรมีรัดเกล้า มีหกกร บางทีถือคัมภีร์ บางทีถือดอกบัว
และนั่งมาบนหลังปลา
พระอาทิตย์ หรือ พระสุริยาทิตย์ เป็นเทพเจ้าที่มนุษยืรู้จักก่อนองค์อื่นๆ
ในลัทธิฮินดู เพราะในสมัยที่คนยังมีสภาพเป็นชาวป่าอยู่ถ้ำนั้น
ได้นับถือพระอาทิตย์แล้ว เพราะพระอาิทิตย์ให้แสงสว่างให้ความอบอุ่น
โดยเราเรียกว่า ตาวัน มาแต่โบราณ ต่อมาได้หดสั้นลงเหลือ ตะวัน ในภายหลัง
ในคัมภีร์กล่าวว่าพระอาทิตย์เป็นโอรสองค์สุดท้องในจำนวน 8
องค์ของพระกัสยปเทพบิดรกับนางอทิติ
เป็นด้วยว่าพระชนนีไม่นำพระสุริยาทิตย์ขึ้นไปเฝ้าพระเป็นเจ้าพระสุริยาทิตย์
จึงมิได้ขึ้นไปอยู่บนเทวโลก
ต้องเที่ยวขับรถเทียมม้าขาวเลาะอยู่ระหว่างเทวโลกและกับมนุษยโลกจนทุกวันนี้
และถึงแม้พระสุริยาทิตย์มีรัศมีพุ่งออกจากกายร้อนแรงและสว่างจ้า
แต่ก็ยังมีชายาได้ถึง 4 องค์ คือ นางฉายา นางสุวรรณี นางสวาดี
และนางมหาวีรยา ในพระหัตถ์ทั้งสี่ของพระสุริยาทิตย์นั้น
ทรงถือดอกบัวเสียสองหัตถ์ๆ ละดอก
ส่วนอีกสองหัตถ์ใช้ห้ามอุปัทวันตรายและประทานพร
พระอัคนี หรือที่เราีเรียกว่า พระเพลิง หรือไฟ กล่าวกันว่ามีกายเป็นสีทอง
หรือสีแดงเพลิง พระเกศาลุกโชน
ปลายพระเมาลีที่มุ่นอยู่จะส่งรัศมีเป็นหมอกควัน พระโอษฐ์อมเพลิง
ตามรูปเขียนมักเป็นรูปบุรุษ 2 หน้า 4 กร มีควันเป็นมงกุฎ มีลิ้นเจ็ดลิ้น
ทรงพระภูษาสีม่วง ทรงรถเทียมด้ายม้าสีแดง บางทีก็ทรงแกะหรือระมาด (แรด)
เป็นพาหนะ ชายาชื่อนางสวาหะ พระอัคนีทรงใช้อาวุธหลายอย่าง มีศรชื่อ
อาคเนยศาสตร์ และโตมร ซึ่งประกอบด้วยเปลวเพลิง แต่มีหัตถ์หนึ่งถือดอกบัว
พระอินทร์ เป็นเทวดาที่ชาวอินเดียนับถือมานานและ่ก่อนเทพองค์อื่นๆ
ที่เล่ามาแล้ว สมัยแรกๆ พระอินทร์จึงมาฤทธิ์มาก
ถือว่าเป็นเทพที่คอยดูแลและช่วยเหลือมนุษย์ เป็นเจ้าแห่งพืชพรรณ ฝน และ
อื่นๆหลายอย่าง ในยุคไตรเพทกล่าวว่ามีผิวกายสีแสด หรือทอง แต่ในชั้นหลังๆ
ว่ามีสีนวล ของไทยเราว่าสีเขียวมรกต ทรงถือวัชระ อาจเปลี่ยนเป็นศร ขอ หรือ
ร่างแหสำหรับตลบจับศัตรู พาหนะที่ทรงคือรถทองเทียมด้วยม้าคู่สีแสด ขนคอยาว
และหางยาว โปรดเสวยน้ำโสมมาก
พระิอินทร์ในไตรภูมิพระร่วงทรงช้างเอราวัณเป็นพาหนะ
ช้างสวรรค์เชือกนี้มีหัว 33 หัว แต่ละหัวมีงา 7 อัน งาแต่ละอันมีสระอยู่ 7
สระ สระ ๆหนึ่ง มีบัวอยู่ 7 กอ แต่ละกอมีดอก 7 ดอก ดอกหนึ่งมีกลีบ 7 กลีบ
และกลีบหนึ่ง มี นางฟ้ากับคนใช้อยู่อย่างละ 7 คน
พระอินทร์มีสวนสำหรับเที่ยวเล่นอยู่ถึง 3 ส่วน ชื่อ นันทโนทยาน จิตรลดา
และปารุสกวัน ในสวนแต่ละแห่งมีสระทิพย์ซึ่งเต็มไปด้วยบัวชนิดต่างๆ
สีขาวบ้าง เหลืองบ้าง แดงบ้าง น้ำเงินบ้าง งามหนักหนา