เกสรบัวหลวง

ชื่อเครื่องยา
เกสรบัวหลวง
ชื่ออื่นๆของเครื่องยา

ได้จาก
เกสรตัวผู้แห้งของดอกบัวหลวง
ชื่อพืชที่ให้เครื่องยา
บัวหลวง
ชื่ออื่น(ของพืชที่ให้เครื่องยา)
บัว, สัตตบงกช, สัตตบุษย์, อุบล, โช้ค (เขมร)
ชื่อวิทยาศาสตร์
Nelumbo nucifera Gaertn.
ชื่อพ้อง
ชื่อวงศ์
Nelumbonaceae
ลักษณะภายนอกของเครื่องยา :
           ได้จากเกสรตัวผู้ของดอกบัวหลวง  เก็บเมื่อดอกบานเต็มที่ แยกเอาเฉพาะเกสรตัวผู้ นำไปผึ่งให้แห้งในที่ร่ม เมื่อแห้ง จะเป็นเส้นมีสีเหลือง และมีกลิ่นหอม รสฝาด  เครื่องยาเกสรบัวหลวง พบว่ามีลักษณะภายนอกคือ  เกสรมีลักษณะเป็นเส้นบางๆ  ตรงกลางเห็นเป็นร่องลึกลงไป  ขนาดความยาว  0.6-2  เซนติเมตร  เส้นผ่าศูนย์กลาง  0.1 เซนติเมตร  สีเหลืองอ่อน หรือสีน้ำตาลเหลือง ส่วนก้านชูเกสรตัวผู้ เป็นรูปทรงกระบอกยาว 1.5-1.8 เซนติเมตร สีม่วงอ่อนมีกลิ่นหอมเฉพาะ  รสฝาด


เครื่องยา เกสรบัวหลวง

ลักษณะทางกายภาพและเคมีที่ดี :
            ปริมาณความชื้นไม่เกิน 10%, ปริมาณเถ้ารวมไม่เกิน 10%,ปริมาณเถ้าที่ไม่ละลายในกรดไม่เกิน 1%, ปริมาณสารสกัดเฮกเซน ไดคลอโรมีเทน แอลกอฮอล์ และน้ำ เท่ากับ 7, 9, 7, 17 % w/w ตามลำดับ และพบองค์ประกอบหลักคือสารกลุ่มฟลาโวนอยด์ และอัลคาลอยด์

สรรพคุณ :
           ตำรายาไทย:  เกสรบัวหลวง ใช้บำรุงหัวใจ ทำให้ชุ่มชื่น บำรุงปอด บำรุงตับ บำรุงกำลัง คุมธาตุ แก้ล้ม แก้ไข้
           ตำรายาจีน: ใช้แก้ปัสสาวะบ่อย  แก้น้ำกามเคลื่อน (ฝันเปียก)  แก้ตกขาว ประจำเดือนมามากกว่าปกติ เลือดกำเดาไหล และแก้อาการท้องเสีย

รูปแบบและขนาดยาที่ใช้ :
           เมื่อใช้บำรุงหัวใจ เกสรปรุงเป็นยาหอมบำรุงหัวใจ บรรเทาอาการหน้ามืด วิงเวียนทำให้ชื่นใจ เป็นยาสงบประสาท ขับเสมหะ
                      1. เกสรบัวหลวงสด หรือแห้งประมาณ 1 หยิบมือ ชงกับน้ำร้อน 1 แก้ว (ประมาณ 240 มิลลิลิตร) ทิ้งไว้นาน 10-15 นาที ดื่มขณะที่ยังอุ่นอยู่ ครั้งละ 1 แก้ว วันละ 3-4 ครั้ง     
                      2. เกสรบัวหลวงแห้ง บดเป็นผงครั้งละ 0.5 -1 ข้อนชา ชงน้ำร้อนดื่มหรือใช้ในขนาด 3-5 กรัม

องค์ประกอบทางเคมี :
           เกสรบัว มีฟลาโวนอยด์หลายชนิด เช่น quercetin, luteolin, isoquercitrin, luteolin glucoside และมีรายงานพบแอลคาลอยด์ด้วย

การศึกษาทางเภสัชวิทยา :
            ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ :
            สารกลุ่มฟลาโวนอยด์ ที่พบในเกสร และดอกบัว มีฤทธิ์ต้านปฏิกิริยาออกซิเดชัน โดยเกสรตัวผู้มีฤทธิ์จับอนุมูลอิสระ DPPH โดยมีค่า EC50 42.05 ?g/ml
           ฤทธิ์ต้านเบาหวาน :  
            เกสรตัวผู้ยังมีฤทธิ์ยับยั้ง rat lens aldose reductase (RLAR) และ advance glycation end products (AGE) โดยมีค่า IC50 48.30 และ 125.48 ?g/ml ตามลำดับ ซึ่งการยับยั้ง RLAR และ AGEมีผลต่อการลดการเกิดภาวะเบาหวาน
           ฤทธิ์ทำให้นอนหลับ :  
            สารแอลคาลอยด์ ที่พบในบัว มีผลทำให้หนูนอนหลับ สารสกัดเมทานอลจากเหง้าบัว ทำให้ลดพฤติกรรม และกิจกรรมต่างๆในสัตว์ โดยเพิ่มการเกิด pentobarbitone-induced sleeping time ในหนู
           ฤทธิ์ลดปวด และต้านการอักเสบ :
            สารแอลคาลอยด์ ที่พบในบัว มีฤทธิ์ลดอาการปวด และแก้อักเสบสารสกัดเมทานอลจากเหง้า ในขนาด 200 มก./กก. และ 400 มก./กก. ลดการอักเสบในหนู โดยมีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับ phenylbutazone และdexamethasoneทั้งการทดสอบในหลอดทดลอง และสัตว์ทดลอง



การศึกษาทางพิษวิทยา :
           สารสกัดแอลกอฮอล์ของเกสรบัวหลวงขนาด 10 กรัม/กิโลกรัม  โดยการป้อน  หรือฉีดใต้ผิวหนังหนูถีบจักร  ไม่ก่อเกิดความเป็นพิษ

ข้อควรระวัง:
           เกสรบัวหลวงอาจก่อให้เกิดอาการแพ้ได้ในบางคน(โดยเฉพาะคนที่แพ้เกสรดอกไม้)