ส่วนต่าง ๆ ของบัวนั้น สามารถใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วน เป็นทั้งยาและอาหารได้อย่างดี โดยจำแนกได้ดังนี้
ดอกบัว ถือเป็นดอกไม้ที่สวยงาม ประชาชนหาซื้อไปบูชาพระมากกว่าดอกไม้ชนิดอื่น เพราะสามารถคงความงามไว้ได้นานกว่าดอกไม้หลายชนิด
เม็ดบัว สามารถ
นำมากินได้ทั้งสดและแห้ง เม็ดบัวมีปริมาณสารอาหารที่สำคัญ คือ โปรตีน
ประมาณ 23 % ซึ่งสูงกว่าข้าวถึง 3 เท่า และเป็นแหล่งรวมธาตุ
อาหารหลายชนิดด้วยกัน เม็ดบัวนำมาประกอบอาหารได้ทั้งคาวหวาน เช่น สังขยา
เม็ดบัว ขนมหม้อแกงเม็ดบัว เม็ดบัวเชื่อม สาคูเม็ดบัว เป็นต้น
รากบัว นิยมนำมาเชื่อมแห้งกินเป็นของหวาน หรือนำไปต้มกับน้ำตาลกรวด แก้ร้อนใน ชาวอินเดีย จะให้เด็กดื่มน้ำรากบัว เพื่อระงับอาการท้องร่วง
ไหลบัว หรือต้นกล้าบัว สามารถนำมาประกอบอาหารได้ทั้งสด ทั้งแห้ง โดยมากจะนำมาแกงส้ม แกงเลียง ผัดเผ็ดต่าง ๆ
สายบัว สามารถปรุงอาหารแทนผักได้หลายชนิด ทั้งแกงส้มสายบัว แกงสายบัวกับปลาทู ฯลฯ ชาวอินเดีย กินเพื่อแก้อาการท้องร่วง
ใบบัว นิยม
นำมาห่อข้าว ห่อของ เช่น ข้าวห่อใบบัว
ส่วนใบอ่อนสามารถนำมากินเป็นผักสดแกล้มน้ำพริก หรือนำมาหั่นฝอย ๆ
ชงดื่มแทนน้ำชา ช่วยแก้ร้อนในกระหายน้ำได้เป็นอย่างดี
เกสรบัว ส่วนของเกสรสีเหลือง สามารถใช้เข้าเครื่องยาทั้งไทยและจีน โดยเฉพาะยาลม ยาหอม ยาบำรุงหัวใจ และยาขับปัสสาวะ
ดีบัว
เป็นส่วนของต้นอ่อนที่อยู่ภายในเม็ดบัว มีรสขมจัด
สามารถนำมาเป็นส่วนผสมของยาโบราณ
มีฤทธิ์ขยายหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้