ประวัติดอกบัว
บัว พันธุ์
ไม้น้ำที่ถือกันว่าเป็นสัญลักษณ์ของความบริสุทธิ์ผุดผ่องและคุณงามความดีใน
พุทธศาสนา
พระพุทธเจ้าทรงเปรียบเทียบระดับสติปัญญาของมนุษย์กับการเจริญเติบโตของบัว
เป็น 4 เหล่าคือ บัวในโคนตม บัวใต้น้ำ บัวปิ่มน้ำ และบัวเหนือน้ำ
บัวเป็นพันธุ์ไม้น้ำที่ดูสง่างาม ดอกมีขนาดใหญ่ มีสีสันสวยงาม
เด่นสะดุดตาสะดุดใจแก่ผู้พบเห็น บางชนิดมีกลิ่นหอมน่าชื่นชม
ด้วยเหตุนี้เองบัวจึงได้รับสมญาว่า “ราชินีแห่งไม้น้ำ”
บัว
เป็นพืชน้ำชนิดหนึ่งอยู่ในวงศ์ Nymphaeaceae
จัดเป็นพืชน้ำล้มลุกที่มีอายุหลายปี พบได้ทั่วไปทั้งในเขตร้อน
เขตอบอุ่นและเขตหนาว จำแนกถิ่นกำเนิดและการเจริญเติบโตได้ 2 จำพวกคือ
1.
บัวที่เกิดและเจริญเติบโตในเขตอบอุ่นและเขตหนาว (Subtropical and Temperate
Zones) เช่น ยุโรป อเมริกาเหนือ ภาคใต้ของอเมริกาใต้ ตอนเหนือของอินเดีย
จีนและออสเตรเลีย บัวประเภทนี้มีเหง้าสะสมอาหารอยู่ในดิน
เมื่อถึงฤดูหนาวผิวหน้าของน้ำเป็นแผ่นน้ำแข็ง
จะทิ้งใบและอาศัยอาหารในเหง้าเลี้ยงตัวเอง
เมื่อเข้าฤดูใบไม้ผลิน้ำแข็งละลายหมดก็จะเจริญแตกหน่อต้นใหม่
และจะเจริญเติบโตออกดอกออกผลหมุนเวียนอยู่เช่นนี้เรื่อยไป
เรียกบัวประเภทนี้ว่า Hardy Type หรือ Hardy Waterlily
นักพฤกษศาสตร์จัดให้บัวประเภทนี้อยู่ในกลุ่ม Castalia Group หรือ
อุบลชาติประเภทยืนต้น
2.
บัวที่เกิดและเจริญเติบโตในเขตร้อน (Tropical Zones) เช่น
ทวีปเอเซียตอนกลางและตอนใต้ อาฟริกา ออสเตรเลียตอนเหนือ
อเมริกากลางและอเมริกาใต้
บัวประเภทนี้กำเนิดและเจริญเติบโตได้ในเขตร้อนเขตเดียว
ถ้านำไปปลูกในเขตอบอุ่นหรือเขตหนาว
เมื่อเข้าฤดูหนาวผิวหน้าของน้ำเป็นน้ำแข็งทำให้บัวประเภทนี้ต้องตายไป
จึงเรียกบัวประเภทนี้ว่า Tropical Type หรือ Tropical Waterlily
นักพฤกษศาสตร์จัดให้บัวประเภทนี้อยู่ในกลุ่ม Lotus Group หรือ
อุบลชาติประเภทล้มลุก