ความรู้คู่บัว

บัว พืชเป็นยาและอาหาร
ใบบัวอ่อน
 มีรสฝาดเปรี้ยว ช่วยบำรุงร่างกายให้ชุ่มชื่น
  ใบบัวแก่
รสฝาดเปรี้ยวเมาเล็กน้อย ช่วยแก้ไข้ บำรุงโลหิต สูดกลิ่นแก้ริดสีดวงจมูก/ใช้ใบแก่ รับประทานจะช่วยให้มีลมเบ่งในการคลอดบุตร/หรือนำใบมาดื่มติดต่อกันสัก 20 วัน จะช่วยลดความดันโลหิตและลดไขมันในเส้นเลือดลงได้
  ดอกบัว
 รส ฝาดหอม สรรพคุณบำรุงครรภ์ ช่วยให้คลอดลูกง่าย แก้ไข้รากสาด และไข้ที่มีพิษร้อน แก้เสมหะและโลหิต บำรุงหัวใจ ใช้ดอกบัวสีขาวสดต้มดื่มติดต่อกันหลายวัน จะช่วยให้หายอ่อนเพลีย สดชื่นลดอาการใจสั่น
เกสร
รสฝาดหอมเย็น(เกสรตัวผู้ มีรสฝาดสมาน มีกลิ่นหอม) ใช้แก้ไข้รากสาด แก้เสมหะ แก้อ่อนเพลีย แก้คลื่นเหียนอาเจียน ใช้เป็นยาบำรุงครรภ์ ส่วนเกสรตัวผู้ใช้ปรุงเป็นยาหอม บำรุงหัวใจ บำรุงประสาท
เปลือกฝัก
 รสฝาดหอม ใช้แก้ท้องเดิน สมานแผลในมดลูก
 ฝักบัว
 มีรสฝาดหอม แก้ท้องเสีย แก้พิษเห็ดเมา ช่วยขับรกของสตรีคลอดบุตรให้ออกเร็วยิ่งขึ้น
 เปลือกหุ้มเมล็ด
รสฝาด แก้ท้องร่วง สมานแผล

  เมล็ด
รสหวานมัน เย็น ช่วยบำรุงหัวใจ บำรุงไขข้อ บำรุงประสาท เส้นเอ็น ช่วยให้กระชุ่มกระชวย แก้ร้อนใน กระหายน้ำ แก้เสมหะ แก้พุพอง แก้ดีพิการ แก้อาเจียน แก้อ่อนเพลีย ช่วยเพิ่มพลังงาน และไขมันในร่างกาย(ผู้ป่วยที่ไอมีเสมหะไม่ควรใช้)
 ดีบัว
 รสขม ช่วยขยายหลอดเลือดหัวใจ แก้กระหายน้ำ
ก้านดอก
 รสเย็นเมา ใช้ตากแห้ง สูดแก้ริดสีดวงจมูก
ก้านใบ
 มีฤทธิ์เป็นยาห้ามเลือดรากบัว ช่วยบำรุงกำลัง บำรุงเพลิงธาตุ แก้เสมหะ แก้กระหาย ต้มเป็นกระสายแก้ร้อน แก้อ่อนเพลีย แก้อาเจียน แก้พุพอง
  เหง้าบัว
 รส หวานเย็นมัน บำรุงกำลัง แก้ร้อนในกระหายน้ำ แก้เสมหะ แก้พุพอง แก้ดีพิการ แก้อาเจียน ใช้เหง้าบัวต้มน้ำดื่ม แก้อาการไอ ขับเสมหะ ลดอาการอ่อนเพลีย ระงับอาการท้องร่วง ธาตุไม่ปกติในเด็ก
  ทั้งต้น
ให้ถอนพิษจากการรับประทานเห็ดพิษ และพิษจากการดื่มสุราเรื้อรัง โดยใช้ทั้งต้นขนาด 10-15 กรัม นำไปต้มดื่ม
นอกจากเฉพาะส่วนต่าง ๆ ของบัวหลวงที่กล่าวมาแล้วบัวอื่น ๆ ก็มีประโยชน์ทางยาอยู่เหมือนกัน แต่ไม่มากเท่าบัวหลวง และนอกจากจะนำมาใช้แบบเดี่ยว ๆ ในแต่ละส่วนแล้ว บัวยังนำไปใช้เข้ายาร่วมกับยาอื่น ๆ เป็นยาตำรับอีกด้วย ที่พบก็ได้แก่
พิกัดเกสรทั้ง 5 เกสรทั้ง 7 เกสรทั้ง 9
เกสรทั้ง 5 หมายถึง  เกสรบัวหลวง ดอกมะลิ ดอกพิกุล บุนนาค สารภี
เกสรทั้ง 7 หมายถึง  เกสรบัวหลวง ดอกมะลิ ดอกพิกุล บุนนาค สารภี ดอกกระดังงา ดอกจำปา
เกสรทั้ง 9 หมายถึง  เกสรบัวหลวง ดอกมะลิ ดอกพิกุล บุนนาค สารภี ดอกกระดังงา ดอกจำปา ดอกลำเจียก ดอกลำดวน
ตัวยาทั้งหมดมีรสหอมเย็น มีสรรพคุณรวมในการช่วยบำรุงหัวใจ ใช้ปรุงประกอบในยาหอม จะช่วยบำรุงหัวใจให้ชุ่มชื่น แก้ลมวิงเวียน แก้ร้อนในกระหายน้ำ แก้อ่อนเพลีย ช่วยเจริญอาหาร
พิกัดบัวทั้ง 5 หมายถึง  บัวสัตตบุษย์  บัวสัตตบรรณ บัวลินจง บัวจงกลนี และบัวนิลุบล
พิกัดบัวทั้ง 5 จะมีรสฝาดหอมเย็น สรรพคุณรวมเป็นยาบำรุงหัวใจ ช่วยชูกำลัง แก้ลมพานไส้ แก้อุจจาระธาตุ แก้ไข้เพื่อลมและโลหิต แก้ไข้รากสาด
พิกัดบัวพิเศษ 6 อย่าง ประกอบด้วย บัวหลวงแดง บัวหลวงขาว บัวสัตตบงกชแดง บัวสัตตบงกชขาว บัวเผื่อน และบัวขม
พิกัดบัวทั้ง 6 นี้ มีรสฝาดเย็น สรรพคุณรวมกันในการชูกำลัง บำรุงหัวใจ แก้ลมพานไส้ แก้อุจจาระธาตุ แก้ไข้ แก้โลหิต แก้ไข้รากสาด แก้ไข้อันบังเกิดเพื่อธาตุทั้ง 4(ดิน น้ำ ลม ไฟ) แก้เสมหะ และโลหิต แก้ร้อนในกระหายน้ำ
จะเห็นว่าบัวนำมาใช้ประโยชน์ทางยาได้มาก มาย และเป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้นด้วย นอกจากความสำคัญทางด้านยาแล้ว บัวยังนำมาประกอบอาหารและใช้ประโยชน์อื่น ๆ ได้หลายอย่าง เช่น
-         อาหารคาว ได้แก่  แกงสายบัว ผัดสายบัว แกงส้มสายบัว
-         อาหารหวาน ได้แก่  ขนมหม้อแกง เต้าทึง ขนมสายบัว
-         ใบบัว นำมาห่อข้าวใช้แทนใบตอง
นอกจากนี้บัวยังเป็นสัญลักษณ์ทางพุทธศาสนา ถือเป็นดอกไม้ศักดิ์สิทธิ์ เป็นตัวแทนแห่งความบริสุทธิ์และความเบิกบาน มีคำสอนเกี่ยวกับดอกบัว เช่น
-         อย่าเห็นกงจักรเป็นดอกบัว หมายถึง  อย่าเห็นความชั่วร้ายเป็นความดี
-         บัวสี่เหล่า คือ  การเปรียบเทียบสติปัญญาของคนออกเป็น 4 กลุ่ม คือ บัวพ้นน้ำ บัวปริ่มน้ำ บัวใต้น้ำ บัวใต้ตม
-         หรือในคำสวดมนต์ได้กล่าวไว้ว่า หนึ่งในพระทัยท่าน ก็เบิกบานคือดอกบัว…” เป็นต้น
-         หรือเมื่อพระพุทธเจ้าประสูติก็สามารถเดินได้ 7 ก้าว แต่ละก้าวก็จะมีดอกบัวมารองรับพระบาทไว้ จึงพบว่าดอกบัวอยู่คู่กับศาสนาพุทธมาช้านาน
ถ้าท่านมีโอกาสหรือสนใจศึกษาเรื่องบัว แล้วจะพบว่าบัวเป็นพืชที่มีประโยชน์มากมายหลายอย่าง หรือใช้เป็นสัญลักษณ์เครื่องหมายแสดงความดี ใช้เป็นคำสอนเปรียบเทียบก็ไม่ใช่น้อย แต่สรุปแล้วคือว่าดอกบัวให้คุณมากกว่าให้โทษ และทุกวันนี้ก็หาดอกบัวทำยากันยากมากขึ้น ซึ่งก็น่าจะส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาทำนาบัวกันเพิ่มขึ้น แต่มีข้อแม้ว่าจะต้องเป็นนาบัวที่ไม่ใช้สารเคมี เพราะไม่เช่นนั้นแล้วทั้งเกษตรกรและผู้บริโภคเองก็ต้องตายมากกว่าจะได้ใช้ ประโยชน์จากบัวแน่นอน
  ปัจจัยสำคัญในการปลูกบัว
    1. ผู้ปลูก เป็นปัจจัยสำคัญมากเนื่องจากบัวเป็นพืชที่โตเร็วและถ้าสภาพแวดล้อมเปลี่ยน การเจริญเติบโตจะเปลี่ยนเร็วมาก ดังนั้นผู้ปลูกต้องหมั่นดูแลต้นบัวอยู่เสมอ
    2. ดินปลูก ต้องเป็นดินที่มีธาตุโปแตสเซียมค่อนข้างสูง เช่น ดินเหนียวท้องนา ดินเหนียวท้องร่องสวนขุดใหม่ ไม่ควรใช้ดินที่มีซากอินทรียวัตถุที่ยังย่อยสลายไม่หมด เพราะจะทำให้น้ำเน่าเสียได้
    3. น้ำ ต้องสะอาด ไม่มีวัชพืชติดมากับน้ำ มีคว่มเป็นกรด-ด่าง (PH) 5.5-8.0 อุณหภูมิของน้ำที่ปลูกได้ 15-35 องศาเซลเซียส ระดับที่เหมาะสมคือ 20-30 องศาเซลเซียสไม่เกิน 50 องศาเซลเซียส
    4. แสงแดด ควรปลูกในบริเวณที่ได้รับแสงแดดไม่ต่ำกว่า 5 ชั่วโมงในแต่ละวัน
    5. ลม ไม่ควรมีลมโกรกมาก เพราะอาจทำให้กลีบบัวบางพันธุ์ช้ำและเหี่ยวเร็วขึ้น
    6. ฤดูกาล บัวเป็นพืชที่สามารถเจริญเติบโตให้ดอกได้ตลอดปี แต่มีบางพันธุ์ที่พักตัวในฤดูหนาว หรือในฤดูแล้งเมื่อน้ำในหนองบึงแห้ง ใบจะร่วงและฝังหัวหรือเหง้าอยู่ใต้ดินจนกว่าสภาพแวดล้อมเหมาะสม เช่นในฤดูฝน เมื่อมีน้ำมาจึงแตกใบใหม่เจริญต่อไป