6 เคล็ดลับในการปลูกบัว

          1. ชนิดและพันธุ์บัว สำหรับ ความนิยมในประเทศไทย ชนิดของไม้น้ำประเภทบัวอยู่ในวงศ์ (Family) Nymphaeaceae ที่นิยมปลูกเป็นไม้ดอก-ประดับมี 3 สกุล (Genus) คือ Nymphaea Nelumbo และ Victoria ความรู้หลักของการปลูกในปัจจัยนี้คือ ปลูกด้วยอะไร ชนิดและพันธุ์บัวที่ปลูกเป็นไม้ดอกและประดับ ส่วนใหญ่ เป็นพันธุ์ลูกผสมทั้งนั้น ยกเว้น “บัวหลวง” และ “บัวกระด้ง” ในประเทศเราจึงปลูกได้ด้วยเมล็ด (seed) ถ้าบัวหลวงเป็นพันธุ์ลูกผสมก็ต้องปลูกด้วยไหล (stolon) บัวประดับอื่น ๆ ได้แก่ บัวผัน บัวสาย ปลูกด้วยหัว (bulb) หรือ ต้นอ่อน หรือ ต้นย่อย (bulbil) ที่แตกจากเหง้าของต้นแม่ บัวนางกวัก และจงกลนี ส่วนใหญ่ปลูกจากหัว ส่วนบัวฝรั่งปลูก จากหน่อ (sprout) หรือ เหง้า (rhyzome) ที่แตกจากต้นแม่
          2. ดิน ถ้า เทียบกับคำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเรื่องปัจจัยสี่ ดินกับบัวนี่คงเทียบกับอาหารและที่อยู่อาศัย เพราะในดินปลูกบัวเป็นไม้ดอก-ประดับ เราก็ต้องใส่ปุ๋ยเสริม ส่วนการเป็นที่อยู่อาศัยก็เทียบเท่ากับฐานรากของบ้านที่ยึดไม่ให้บ้านล้ม หรือพัง ก็คือต้นบัวฝังรากยึดอยู่ได้ในดินไม่หลุดลอยไปที่อื่น ในบ้านเรา-ประเทศไทยบัวทุกชนิดขึ้นในท้องนา สามัญสำนึกก็คงบอกได้เองเลยว่าต้องเป็นดินเหนียว แต่ถ้าเป็นแหล่งที่ไม่มีดินเหนียว เช่น ในบริเวณที่ราบสูง ก็ควรเป็นดินที่เหนียวที่สุดในบริเวณนั้นคือดินร่วนเหนียว (clayloam) ฝรั่งเมืองนอกเขาใช้คำว่า dirt ในหนังสือหรือ แคตตาล็อคขายบัวหลายเล่ม จากที่อยู่อาศัยก็มาถึงอาหาร ในดินที่ปลูกก็ควรเสริมอาหารให้ เช่น ถ้าปลูกในสระ บ่อดินธรรมชาติ สามัญสำนึกของท้องนาธรรมชาติ อาหารในนาที่ได้คือโปแตสเซียมที่ละลายมากับน้ำที่มาจากป่าเขา จะเห็นได้ว่า การทำนามักจะมีการแนะให้เสริมด้วยปุ๋ย แอมโมฟอส คือปุ๋ยไนโตรเจนกับฟอสฟอรัส หลักเกณฑ์ทั่ว ๆ ไปในการทำ-ผสมดินปลูกบัวคือ เสริมปุ๋ยที่มีธาตุอาหารไนโตรเจนและฟอสฟอรัสให้
          3. บัวเป็นไม้น้ำ ถ้า ไม่มีน้ำก็ปลูกบัวไม่ได้ ก็เป็นส่วนของที่อยู่อาศัยซึ่งมีส่วนสัมพันธ์โดยตรงกับชนิดและพันธุ์บัว เกณฑ์ทั่วไปคือต้องมีฤทธิ์เป็นกรดเล็กน้อยหรือเป็นกลาง เหมาะที่สุด ค่า pH ควรอยู่ระหว่าง 6.5-7.5 แต่ในการปลูกจริงๆ โดยเฉพาะในภาชนะจำกัดที่น้ำไม่ถ่ายเท ผู้ปลูกต้องการให้บัวโตเร็วๆ ใส่ปุ๋ยอุตลุต ธาตุไนโตรเจนส่วนเกินจะละลายอยู่ในน้ำที่ปลูก เปลี่ยนสภาพของน้ำเป็นด่าง ค่า pH มักจะสูงกว่า 7.5 ต้องแก้ด้วยการเติม สารเปลี่ยนสภาพให้น้ำเป็นกลาง หรือเสริมด้วยปุ๋ยที่มีธาตุฟอสฟอรัสสูง นอกจากความเป็นกรด-ด่างของน้ำแล้ว ที่สัมพันธ์กับชนิดและพันธุ์บัวโดยตรงคือ “ความลึกของน้ำ” บางชนิดบางพันธุ์ต้องการน้ำลึก บางพันธุ์ต้องการน้ำตื้น ประสบการณ์จากการปลูกของนักปลูกบัวไทย แบ่งความลึกของน้ำในการปลูกบัวไว้ 3 ระดับคือ น้ำตื้น (ก) ระหว่าง 15-30 เซนติเมตร น้ำลึกปานกลาง (ข) ระหว่าง 30-60 เซนติเมตร และน้ำลึกมาก (ค) ลึกกว่า 60 เซนติเมตร แต่ไม่ควรเกิน 1 เมตรครึ่ง หรือควรอยู่ระหว่าง 60-120 เซนติเมตร
          4. ลมก็คือลม ใคร คิดว่าไม่สำคัญ ข้อดีของลมคือช่วยลดความร้อนของน้ำ น้ำถูกแดดร้อน ระบาย ความร้อนขึ้นมา ลมก็ช่วยพัดความร้อนออกไปให้ ดอกก็ไม่เหี่ยว ข้อร้ายก็มีคือถ้าลมแรงเกินไป บัวที่ชูดอกพ้นน้ำ เช่น บัวผัน บัวสาย บัวยักษ์ออสเตรเลีย ที่ก้านดอกอ่อน ลมก็จะปัดก้านโน้ม โอนเอียง ขยับไป-มา กระเทือนไปถึงโคน ราก คลอนไป-มาด้วย สังเกตดูเถอะครับ ในทุ่งโล่งๆ จะไม่ค่อยเห็นบัวผันหรือบัวสายที่ชูก้านดอกสูง จะเห็นแต่ บัวหลวงที่ก้านดอกแข็ง เราจะเห็นบัวผัน บัวสายในสระ-บ่อที่ผนังบ่อสูง แต่ในบึงกว้างน้ำค่อนข้างลึก เช่น ในบึงบรเพ็ด นครสวรรค์ หรือ หนองบัวแดงที่พัทลุง จะเห็นแต่บัวหลวงกับบัวสายเท่านั้น ทั้งนี้เพราะบัวหลวงก้านแข็งดังที่กล่าว ข้างต้น ส่วนบัวสาย เนื่องจากขยายพันธุ์ด้วยการแตกไหลขยับออกไปรอบๆ จากต้นเป็นกอ จากกอเป็นกลุ่ม จึงช่วยยึดกันไป-มาอยู่ในดินได้ ลมแรงก็ไม่กลัว
          5. แสงแดดเป็นตัวแทนของไฟคลับ ให้ความร้อน (โดย มีลมช่วยให้เย็น) และแสงให้บัวปรุงอาหาร แยกเป็นสองปัจจัยย่อยในแง่ของการให้ความร้อน-เย็น ก็เชื่อมกับความต้องการของชนิดและพันธุ์บัวอีกนะแหละบัวผัน-เผื่อน บัวสาย จงกลนี และบัวกระด้ง (เฉพาะพันธุ์ที่ปลูกในประเทศเราปัจจุบันคือ Victoria amazonica) และบัวหลวง บ้านเรา ถิ่นกำเนิดในเขตร้อน ชอบน้ำค่อนข้างร้อน ร้อนถึง 40 องศาเซลเซียส ก็ยังพออยู่ได้ แต่ถ้าน้ำเย็นกว่า 15 องศาเซลเซียส ไม่ชอบ บัวดังกล่าวจึงควรปลูกในน้ำที่มีอุณภูมิ ณ จุดที่ปลูกระหว่าง 25-35 องศาเซลเซียส ส่วน บัวฝรั่งและบัวหลวง (บางพันธุ์) มีถิ่นกำเนิดในเขตอบอุ่นและเขตหนาว ความร้อน-เย็นของน้ำ ณ จุดปลูกจึงอยู่ระหว่าง 20-30 องศาเซลเซียส บัวเป็นพืชที่รับปุ๋ยได้ดีมาก ใช้ปุ๋ย-อาหารค่อนข้างเปลือง แสงแดดเป็นตัวสนับสนุนที่มีอิทธิพลที่สุด ทำให้ปรุงอาหารได้เร็วมาก และก็ใช้มากด้วย สถานที่ที่ปลูกบัว เหมาะในที่ปลูกที่ได้รับแสงแดดเต็มที่ ไม่ต่ำกว่าวันละ 5 ชั่วโมง จะเป็นแดดเช้าหรือบ่ายก็ได้
          6. ที่อยู่อาศัย คือ ปลูกบัวในภาชนะจำกัดแบบต่างๆ ในบ่อดิน บ่อพลาสติก บ่อคอนกรีต คือที่อยู่อาศัยของบัว ซึ่งมีความสัมพันธ์โดยตรงกับชนิดและพันธุ์ของบัวที่จะปลูก บัวบางชนิด บางพันธุ์ ปลูกได้เฉพาะในภาชนะจำกัด บางชนิดปลูกได้เฉพาะในสระ-บ่อดิน ลงพื้นดินโดยตรง บางชนิดเหมาะที่จะปลูกในภาชนะและยกลงแช่ในบ่อหรืออ่าง ฯลฯ