บัวหลวง : บำรุงหัวใจ ขยายหลอดเลือด สารสกัดทำให้ผิวขาว ต้านชรา

    ดอกบัวเป็นดอกไม้ที่คนไทยผูกพันมายาวนาน เพราะเป็นดอกไม้ที่มีความสัมพันธ์กับศาสนาพุทธ เราจึงได้เห็นดอกบัวสะท้อนวิถีชีวิตของคนในแง่มุมต่างๆ มากมาย ที่เจนตาก็คงใช้ไหว้พระ ภาพวาดที่ศิลปินมักจะนิยมวาดกันมาก รวมถึงนำมาใช้เป็นอาหารและยา
    ดอกบัวสายพันธุ์ต่างๆ ล้วนนำมาใช้เป็นยาและอาหารได้  แต่ที่นิยมทำยาคือบัวหลวงแดง บัวหลวงขาว ส่วนที่นำมาใช้ปรุงอาหารคือบัวสาย บัวเป็นไม้น้ำจัดเป็นประเภทไม้ล้มลุกหลายฤดู มีเหง้าและไหลอยู่ใต้ดิน ผังตัวอยู่ในโคลนเลน ขยายพันธุ์โดยใช้ไหลซึ่งแตกจากเหง้าใต้ดิน เป็นพืชในวงศ์  Nelumbonaceae มีชื่อวิทยาศาสตร์ Nelumbo nucifera มีถิ่นกำเนิดในแถบร้อนและอบอุ่น พบได้ตามแหล่งน้ำทั่วโลก
    ในตำราเภสัชกรรมไทยได้บันทึกสรรพคุณทางยาของบัวหลวงไว้ คือ กลีบดอกบัว บำรุงร่างกาย ห้ามเลือด มีเส้นใยอาหารสูง ช่วยบรรเทาอาการอ่อนเพลีย ช่วยให้สดชื่นขึ้น   และนิยมนำไปทำเมี่ยงดอกบัว หรือกลีบบัวชุบแป้งทอด หรือยำดอกไม้ นอกจากนี้ ยังใช้มวนบุหรี่สูบ ใบอ่อน รสฝาดเปรี้ยว บำรุงร่างกายให้ชุ่มชื่น
    ใบบัวแก่ รสฝาดเปรี้ยวเมาเล็กน้อย ช่วยแก้ไข้ บำรุงโลหิต สูดกลิ่นแก้ริดสีดวงจมูก / ใช้ใบแก่รับประทานจะช่วยให้มีลมเบ่งในการคลอดบุตร / หรือนำใบมาดื่มติดต่อกันสัก 20   วัน จะช่วยลดความดันโลหิตและลดไขมันในเส้นเลือดลงได้  ดอก รสฝาดหอมเย็น บำรุงหัวใจ บำรุงกำลัง แก้ไข้ บำรุงครรภ์ ทำให้คลอดบุตรง่าย แก้ไข้รากสาด และไข้มีพิษร้อน แก้เสมหะและโลหิต เมล็ด รสหวานมัน เย็น ช่วยบำรุงหัวใจ บำรุงไขข้อ บำรุงประสาท เส้นเอ็น ช่วยให้กระชุ่มกระชวย  แก้ร้อนใน กระหายน้ำ แก้เสมหะ แก้พุพอง แก้ดีพิการ แก้อาเจียน แก้อ่อนเพลีย ช่วยเพิ่มพลังงาน และไขมันในร่างกาย  (ผู้ป่วยที่ไอมีเสมหะไม่ควรใช้)
    ดีบัว รสขมจัด สรรพคุณ มีสารประกอบอัลคาลอยด์ มีฤทธิ์ในการขยายหลอดเลือดทั่วไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ แก้น้ำกามเคลื่อนขณะหลับ เกสร รสฝาดหอมเย็น (เกสรตัวผู้ มีรสฝาดสมาน มีกลิ่นหอม) ใช้แก้ไข้รากสาด แก้เสมหะ แก้อ่อนเพลีย แก้คลื่นเหียนอาเจียน ใช้เป็นยาบำรุงครรภ์ ส่วนเกสรตัวผู้ใช้ปรุงเป็นยาหอม บำรุงหัวใจ บำรุงประสาท ราก รสหวานเย็นมัน สรรพคุณ บำรุงกำลัง แก้ร้อนใน กระหายน้ำ  แก้เสมหะ แก้ดีพิการ ฝัก รสฝาดหอม แก้ท้องเสีย แก้พิษเห็ดเมา ขับรกให้ออกเร็วขึ้น เปลือกฝัก รสฝาดหอม แก้ท้องเดิน สมานแผลในมดลูก
    ก้านดอก รสเย็นเมา ตากแห้ง สูบแก้ริดสีดวงจมูก ก้านใบ มีฤทธิ์เป็นยาห้ามเลือด หรือทำให้เลือดหยุด เหง้า รสหวานเย็นมัน บำรุงกำลัง แก้ร้อนในกระหายน้ำ แก้เสมหะ แก้พุพอง แก้ดีพิการ แก้อาเจียนใช้เหง้าบัวต้มกับน้ำ ดื่มแก้อาการไอขับเสมหะ ลดอาการอ่อนเพลีย ระงับอาการท้องร่วง ธาตุไม่ปกติในเด็ก
    เหง้าบัว รสหวานเย็นมัน บำรุงกำลัง แก้ร้อนในกระหายน้ำ แก้เสมหะ แก้พุพอง แก้ดีพิการ แก้อาเจียน ใช้เหง้าบัวต้มน้ำดื่ม แก้อาการไอ ขับเสมหะ ลดอาการอ่อนเพลีย ระงับอาการท้องร่วง ธาตุไม่ปกติในเด็ก
    ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์  พบว่า สารสกัดเกสรบัวหลวงด้วยวิธี Nanotechnology จะได้สารสกัดที่มีขนาดเล็กมาก   สามารถแทรกซึมเข้าสู่ชั้นใต้ผิวหนังได้ดี มีผลทำให้ชะลอการเจริญของเม็ดสี Melanin และช่วยให้ผิวหนังเต่งตึง เนื่องจากสารสกัดที่ได้ประกอบด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ จึงยับยั้งการทำงานของ Tyrosinase  enzyme และยังพบ Vitamin A - Palminate ซึ่งจะช่วยให้ผิวหนังอ่อนนุ่ม ดังนั้นจึงสามารถนำเกสรดอกบัวมาผลิตเป็นเครื่องสำอาง เช่น ครีมกันแดด  บำรุงผิว ครีมบำรุงหน้ากลางวันและกลางคืนได้
    จากงานวิจัยพบว่าสามารถลดน้ำตาลในเลือดได้ทั้งในคนปกติและในคนที่เป็นเบา หวาน รากบัวสามารถช่วยลดการดูดซึมของกลูโคสและทำให้ไม่ต้องเพิ่มขนาดของอินซูลิน
    มีการศึกษาพบว่า ช่วยเสริมฤทธิ์ยานอนหลับ และทำให้หลับสบาย ฤทธิ์ไม่แรงมากนักมีฤทธิ์อ่อนๆ
    จากการศึกษาวิจัยในปัจจุบัน พบว่า มีสารอัลคาลอยด์ มีฤทธิ์ลดความดันโลหิตสูง ยับยั้งการเต้นผิดปกติของหัวใจ ลดการบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจ ฤทธิ์ขยายหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจ
    การใช้ประโยชน์
    - ใช้ดอกบัวสด 3-5 ดอก ต้มเอาน้ำดื่มแก้ไข้ โบราณนำดอกบัวที่บูชาพระแล้วนำมาต้มให้หญิงตั้งครรภ์ดื่มเพื่อบำรุงครรภ์ นอกจากนี้ ดอกบัวสดนิยมใช้ดอกสีขาว นำมาต้มกับน้ำ  ให้ดื่มแต่น้ำติดต่อกันหลายๆ วัน ช่วยให้หายอ่อนเพลีย สดชื่นขึ้น ลดอาการใจสั่น
    - แก้อาการท้องเสีย การนำไปใช้ ใช้ก้านเกสรแห้งประมาณ 3-5 กรัม ต้มเอาน้ำดื่มวันละ 3-4 ครั้ง/วัน มีรายงานว่า ต้มน้ำใบบัวดื่มติดต่อกัน 20 วัน จะทำให้ความดันโลหิต และไขมันในเส้นเลือด (คอเลสเตอรอล) ลดลงได้
    - ใช้ทั้งต้น แก้พิษจากการรับประทานเห็ดพิษ และพิษจากอาการพิษสุราเรื้อรัง โดยใช้ทั้งต้น ขนาด 10-15 กรัม นำไปต้มรับประทาน.