แม้เกิดจากโคลนตม แต่ก็สามารถชูก้าน ส่งดอกขึ้นเบ่งบาน
งามบริสุทธิ์ผุดผ่อง เหนือผิวน้ำ บัวจึงถูกยกย่องว่าเป็นของควรบูชา
ประกอบกับวิถีการดำเนินชีวิตของคนไทยที่มีการตั้งถิ่นฐานตามสองฝั่งน้ำมาแต่
โบราณ จึงมีการใช้ประโยชน์จากบัว ทั้งทางด้านอาหาร ยารักษาโรค
ตลอดจนได้ชื่นชมความงามของพืชน้ำชนิดนี้
ความผูกพันของคนไทยที่มีต่อบัวยังก่อให้เกิดบทบาทสำคัญต่อการกำเนิดแบบแผน
วัฒนธรรมประเพณี ภาษา วรรณกรรมและศิลปกรรมแขนงต่าง ๆ อีกมากมายของไทย
บัวเป็นดอกไม้ที่มีความเกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้า ตั้งแต่การประสูติ
ตรัสรู้ และปรินิพพาน ดังนั้นพุทธศาสนิกชนจึงใช้ดอกบัวเพื่อบูชาพระ
และในพิธีกรรมทางศาสนา บัวจึงเปรียบเสมือนเป็นสัญลักษณ์
ของความบริสุทธิ์และคุณงามความดี
ประเพณีรับบัวหรือโยนบัว
เป็นประเพณีที่สืบทอดกันมายาวนานของชาวบางพลี
โดยประชาชนจะโยนดอกบัวลงในเรือขบวนแห่พระพุทธรูปจำลองของหลวงพ่อโต
และโยนบัวให้กับคนต่างบ้านที่พายเรือมาเที่ยวด้วย เพื่อเป็นการทำบุญร่วมกัน
ประเพณีลอยกระทง เป็นประเพณีโบราณของไทย โดยลักษณะของกระทงถูกประดิษฐ์ให้เป็นทรงรูปดอกบัวบาน
บัวยังนิยมใช้ตั้งเป็นชื่อ เป็นชื่อคน เช่น จงกลนี ปทุมวดี บัวผัน
บัวเผื่อน แม้แต่ในวรรณคดีใน “ขุนช้างขุนแผน” ก็มีบัวคลี่ ใน “นิทานเวตาล”
ก็มีนางปัทมาวดี เป็นชื่อจังหวัด อำเภอ ตำบล และวัด เช่น จังหวัดปทุมธานี
อำเภอปทุมวัน อำเภอปทุมรัตน์ อำเภอลาดบัวหลวง วัดปทุมคงคา วัดสระปทุม
ทั้งนี้ก็เนื่องจากอดีตสถานที่แห่งนั้นมีไม้น้ำนี้อยู่มากจนพบเห็นได้ทั่วไป
จึงตั้งชื่อให้เป็นนิมิตมงคล
นอกจากนี้
บัวยังเข้ามามีบทบาทสำคัญเกี่ยวกับความเชื่อในการดำเนินชีวิตของคนไทย
ตั้งแต่เกิดจนตาย กล่าวคือ เมื่อสตรีไทยตั้งครรภ์ใกล้ถึงกำหนดคลอด
ผู้ใหญ่จะจัดหาดอกบัวที่ใช้ในงานบวชมาต้มน้ำให้ดื่ม
เพื่อจะให้คลอดบุตรได้ง่ายและปลอดภัย
ชายไทยเมื่ออายุครบบวชก็จะเข้าพิธีอุปสมบท
โดยใช้ใบบัวเป็นภาชนะรองรับผมที่โกน สำหรับวาระสุดท้ายของชีวิต
มักมีการนำดอกบัวใส่มือผู้ตายในท่าพนมมือ
เพื่อให้ผู้ตายนำไปบูชาพระจุฬามณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ด้วย