การดูแลรักษาบัวเมื่อเข้าฤดูหนาว



 

                บัวและไม้น้ำ-ไม้บกอีกหลายชนิด เมื่อเข้าฤดูหนาวจะพักการเจริญเติบโต สลัดใบทิ้ง
 อาหารที่สะสมไว้จะเปลี่ยนสภาพจากน้ำตาล (รูปแบบต่างๆ) เป็นแป้งเก็บไว้ในต้น หน่อหรือหัว
เมื่อหมดฤดูหนาวเริ่มเจริญเติบโตใหม่จึงนำมาใช้

                การสลัดใบของบัวทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพสมดุลในน้ำ ตามปกติระหว่างที่บัวมีการ
เจริญเติบโต เต็มที่ ช่วงเวลากลางวันเมื่อใบปรุงอาหาร จะระบายธาตุออกซิเจนลงในน้ำทำให้น้ำสดชื่น
 สะอาดอยู่ตลอดเวลา  ก่อให้เกิดความสมดุลของอากาศธาตุในน้ำ แต่เมื่อสลัดใบทิ้งไป การปรุงอาหาร
และระบายธาตุออกซิเจนลดลง ปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ ที่เกิดจากการเน่าเปื่อยสลายของรากบัว
การตายของพืชใต้น้ำ เช่น ตะไคร่น้ำ สาหร่าย ฯลฯ จะเพิ่มขึ้น ทำให้น้ำในภาชนะปลูกบัว
น้ำในบ่อเสีย-เน่า ทำให้หน่อหรือหัวบัวเน่าตายไปด้วย
                หลักการในการดูแลรักษาในช่วงเข้าฤดูหนาวคือ ดูแลอย่าให้น้ำเสีย-เน่า และต้นบัวเสื่อม
สภาพ ได้แก่
1. คอยเก็บซากตะไคร่-สาหร่าย-วัชพืชที่ตายในที่ปลูกทิ้ง หรือ
2. กรณีที่ปลูกบัวในภาชนะ ถ้าเห็นน้ำเริ่มเสียก็ถ่ายน้ำ ให้มีน้ำสะอาดหล่อเลี้ยงตลอดเวลา เพื่อไม่ให้
หน่อหรือหัวบัวที่ฝังอยู่ใต้ดินเน่า (แต่ถ้าพ้นฤดูหนาว บัวเจริญเติบโตใหม่ ควรหยุดถ่ายน้ำบ่อยๆ
 แก้น้ำเสียโดยวิธีอื่น เช่น กันไม่ให้ใบแก่ ดอกโรย ตกค้าง-เน่าในภาชนะ โดยเด็ดทิ้งเสียก่อน ฯลฯ)
3. ถ้าปลูกไม่มากจะทำอย่างในต่างประเทศก็ได้ คือเก็บหน่อหรือหัวบัว (ที่สลัดใบทิ้งไปแล้ว)
ใส่ภาชนะเก็บเข้าตู้เย็น (ชั้นที่เก็บผักไม่ให้เน่า อุณหภูมิระหว่าง 5-10 องศาเซลเซียส) พ้นฤดูหนาว
ก็เอาออกมาปลูกใหม่
4. บัวผันบัวเผื่อน บัวสาย และจงกลนี ถ้าอากาศหนาวเย็นมากๆ จะสร้างหัว ปรากฏการณ์ที่เกิดคือ
เมื่ออากาศเริ่มเปลี่ยน เย็นลง ถ้าต้นบัวเป็นหัวอยู่แล้วจะเริ่มสะสมอาหาร เปลี่ยนอาหารจากน้ำตาล
เป็นแป้งดังที่กล่าวข้างต้น หัวจะใหญ่ขึ้น ถ้าต้นบัวเป็นเหง้าที่สมบูรณ์มาก ผลของการสะสมอาหาร
-เปลี่ยนจากน้ำตาลเป็นแป้งคือการสร้างหัวใหม่ จะได้มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของเหง้า
 ความหนาวเย็นของอากาศและความสามารถของพันธุ์บัวแต่ละพันธุ์ ปรากฏการณ์ดังกล่าวจะทำให้หัว
-เหง้าของบัวขยายตัวพ้นดิน การดูแลรักษาระยะนี้คือต้องตรวจและกดฝังกลับลงไปให้มิดดิน เพราะถ้า
หัวหรือเหง้าลอยพ้นดินก็จะไม่แตกทั้งต้นใหม่และหัวใหม่ให้
               ปลายฤดูหนาว สำรวจ เก็บตะไคร่น้ำ-สาหร่าย ณ จุดของเหง้า-ต้นที่อยู่ใต้ดินอีกครั้ง
ถ้าปลูกในภาชนะจำกัดมากๆ ใช้ด่างทับทิมละลายน้ำในภาชนะปลูกให้เป็นสีบานเย็น ภายใน 2 วัน
ตะไคร่ สารสีเขียว จะตายหมด เป็นตะกอนสีน้ำตาลตกลงก้นภาชนะและรอบๆ ต้น ดูดออกและเก็บทิ้ง
เหลือน้ำเดิมไว้ประมาณครึ่งภาชนะ เติมน้ำสะอาดใหม่ ให้เต็ม
               ถ้าเหง้า-ต้นแม่ที่ปลูกอายุมากพอและอากาศในฤดูหนาว หนาวพอสมควร ผู้ปลูกน่าจะได้
หัว และ/หรือต้นใหม่เพิ่มขึ้น