ดอกบัวแฝด



ปทุมชาติ (Nelumbo)    คนไทยมักเรียกว่า บัวหลวง เป็นบัวชนิดที่มีก้านแข็ง เปราะ มีตุ่มและหนาม ชูก้านพ้นน้ำได้สูง หน้าใบไม่เปียกน้ำ ดอกมีรูปร่างเป็นพุ่มสวย มีทั้งที่มีกลิ่นหอมอ่อนๆ และกลิ่นหอมจัด บานในเวลากลางวัน เมื่อดอกบานแล้วจะแบะออก เกสรหอม เมื่อเกสรร่วงมองเห็นฝักใหญ่ มีเมล็ดกรมนูนขึ้นมา บัวหลวงขึ้นอยู่ทั่วไปตามคลองหนองบึง พุทธสานิกชนนิยมนำดอกบัวหลวงมาบูชาพระ และนำมาปักแจกันตกแต่งอาคารบ้านเรือน นอกจากนั้นยังนำส่วนอื่นๆ มาใช้ประโยชน์เกือบทุกส่วน เช่น เหง้าบัวหรือรากบัว นำมาต้มรับประทานแก้ร้อนใน กระหายน้ำ ใช้เชื่อมน้ำตาลรับประทานเป็น
ของหวาน นำมาชุบแป้งทอดเป็นของว่าง ใบบัวแก่นำมาใช้ห่อของแทนใบตอง ใบอ่อนนำมารับประทานเป็นยา เกสรตัวผู้เส้นสีเหลือ นำมาตากแห้งเป็นสมุนไพร ใช้ปรุงยาไทย เช่น ยาบำรุงหัวใจ บำรุงประสาท และเป็นยาชูกำลัง เมล็ดบัวใช้รับประทานทั้งดิบและนำมาผสมอาหารคาว ตลอดจนนำมาต้มน้ำตางเป็นของหวาน และเคลือบน้ำตางแห้ง มีสรรพคุณบำรุงครรภ์ และบำรุงกำลัง ดีบัวมีสารอัลคาลอยด์ซึ่งมีสรรพคุณช่วยขยายหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจบัว หลวงมีหลายพันธุ์ มีที่สำคัญระบุไว้ในวรรณคดี เช่น  ปทุมมาลย์ ปัทมา โกกนุต  สัตตบกช   สัตตบุษย์    บุณฑริก
               บัวตามความเชื่อของคนไทย นั้นถือว่ามีความเป็นมงคล หมายถึงความเจริญรุ่งเรือง  บัวเกิดแต่ตมแต่ก็เบ่งบานสวยงามได้ เปรียบกับ มนุษย์ที่แม้อาจมีชาติกำเนิดต้อยต่ำแต่ก็สามารถพากเพียรจนเจริญรุ่งเรืองได้ ฉันนั้น   บัวใช้เป็นเครื่องหมายทางศาสนา  หมายถึงพระ   หรือ เทพเจ้าชั้นสูง  สำหรับบัวแฝดนี้  หลายท่านอาจเข้าใจว่ามีเฉพาะบัวหลวงหรือ ปทุมชาติแต่จากการค้นคว้า พบว่า บัวแฝด เกิดได้ทั้ง  ปทุมชาติ และ อุบลชาติ   ซึ่งเกิดจากการ ผ่าเหล่า ของบัวดอกนั้น ไม่ใช่สายพันธุ์แต่อย่างใด   บัวแฝดนั้นไม่ว่าเป็นบัวชนิดใด ก็นับว่าหายาก  นานแสนนานจะพบสักครั้งหนึ่ง  บางทีอาจพบหลายดอก บางทีดอกเดียวขึ้นกับวาสนา   บัวแฝดถือว่าคือ กัณหา-ชาลี   ในเรื่องเวสสันดรชาดก   มีเรื่องเล่าว่า ชูชกมาขอกัณหา-ชาลีไปเป็นคนใช้ เด็กทั้งสองจึงหนีลงไปแอบซ่อนในสระบัว  กอดคอกันเอาใบบัวปิดหัว อำพรางตัว  จึงเปรียบสระบัวที่พบบัวแฝด  ก็สมมุติถือเอาว่า   บัวแฝดคือกัณหาชาลี  นำมาทำวัตถุ มงคลทางเมตตามหานิยมค้ำคูนดีนัก  เพราะ ถือว่ากัญหาชาลีช่วยให้พระเวสสันดรทำสิ่งที่ยากยิ่งคือโพธิญาณให้สำเร็จ ได้    การจะช่วยในเรื่องที่เล็กกว่าก็ไม่พ้นวิสัย    โบราณาจารย์จึงนำผสมเป็นมวลสาร สำคัญ  แต่มักปิดบังเคล็ดลับขั้นตอนวิธีการ  ถือว่า ทีเด็ดไม้ครู   
             วัตถุมงคลใดมีบัวแฝด ผสมอยู่แล้วจะทรงคุณวิเศษทางเมตตาอย่างที่สุดและค้ำคูนดวงชะตามิให้ตกต่ำ จึงนำไปเป็นส่วนผสมแบบเคล็ดลับ    เช่นการนำไปประกอบยาจินดามณี ที่ร่ำลือ       ดั้งเดิมนั้นการเก็บบัวแฝดแต่ละดอกจะว่าคาถา พระเวสสันดรเรียกกัญหาชาลี  แล้วจึงค่อยเก็บบัวนำมา   จากนั้นอาจปลุกเสกด้วยคาถาบัวแก้วบัวขวัญ   นอกจากนี้ก็มีคาถาบางบทที่มีในคาถาพันหรือเวสสันดรชาดก นำมาใช้ประกอบ เช่นคาถา ชูชกขอสองกุมาร ฯ    บัวแฝดยังนำมาใช้ในการทำยาเสน่ห์แบบให้รักให้หลงได้  แต่ผู้เขียนไม่ส่งเสริมในเรื่องที่ผิดจารีตศีลธรรมจึงขอเว้นไปไม่กล่าวถึง

บัวแฝด  ในแง่วิทยาศาสตร์ อาจเห็นว่า เป็นความผิดปกติทางพันธุ์กรรมหรือผ่าเหล่าแบบหนึ่ง ซึ่งพบได้น้อยมาก แต่ คติชนกลับนับถือว่า เป็นของค้ำของคูน ที่มีคุณวิเศษ แบบ  เมตตามหานิยม  ซึ่งก็คงไม่อาจพิสูจน์ได้อย่างเป็นรูปธรรม   แต่สิ่งนี้ก็สะท้อนความจริงอย่างหนึ่งก็คือมนุษย์ทุกรูปทุกนาม ล้วนถวิลหาความรัก ความเห็นอกเห็นใจ ที่ไม่ต้องแสวงหาที่ไหน ก็อยู่ในใจเรานี่เอง...